Full Review Phoenix GUNNER 100 รีวิวทดสอบ GUNNER 100 ระยะทางกว่า 1,000 km กรุงเทพ – ทุ่งดอกบัวตอง

แชร์บน

Full Review Phoenix GUNNER 100 รีวิวทดสอบ GUNNER 100 ระยะทางกว่า 1,000 km กรุงเทพ - ทุ่งดอกบัวตอง

การทดสอบฉบับเต็ม เจาะลึกกับการวิ่งทดสอบระยะไกลเค้นหาประสิทธิภาพ ข้อดี ข้อเสีย
ของ Phoenix GUNNER 100 แบรนด์ไทยน้องใหม่ใจเกินร้อย
เส้นทาง กรุงเทพ – ดอยอินทนนท์ – ดอยแม่อูคอ
ระยะทางรวมกว่า 1,000 กิโลเมตร

ห่างหายการรีวิวมอเตอร์ไซค์กันไปนานพอสมควร และกลับมาสวัสดีอีกครั้ง กับการทดสอบมอเตอร์ไซค์ที่มาจาก “ความคัน” ล้วนๆ เรียกได้ว่าก็เห็นรถคันนี้มันน่ารัก และเชื่อว่าส่วนใหญ่คนที่ซื้อไปก็คงไม่ได้เอาไปขี่ไกลมากมายอะไร ดังนั้น หน้าที่การทดสอบระยะทางไกล แน่นอนว่ามันคือทางของเราล้วนๆ (คนอื่นเขาไม่ค่อยอยากทำ มันทั้งเสี่ยง ทั้งเปลืองเงิน เปลืองเวลา) ดังนั้น ผลการทดสอบอาจจะไม่ตรงกับความต้องการและกลุ่มเป้าหมายของรถคันนี้ไปบ้าง แต่เราก็อยากรู้ และ อยากให้รู้ ว่าถ้าลากยาวๆกับมันสักพันกิโลเมตร มันจะไหวแค่ไหนเพียงไร เส้นทางในการทดสอบทั้งหมดก็จะประมาณนี้ครับ!!

วันแรกของการทดสอบ เส้นทาง กรุงเทพ นครสวรรค์ และไปนอนกันที่ตัวอำเภอเมือง จังหวัดตาก ออกกันประมาณบ่ายโมง เลยไปได้ไม่ไกลเท่าที่คิดไว้ตอนแรก (ว่าจะไปนอนเถิน) จริงๆมันดันไปได้นะอีกแค่ร้อยโล …. แต่บอกตรงๆเลยว่า อยากพัก อิอิ

ในระยะทางดังกล่าว เราแวะเติมน้ำมันกันประมาณทุกๆร้อยกิโลเมตร หรือไม่ก็เกินหน่อยๆ ถังแรกหมดปลอกแบบไม่สนลูกใคร วิ่งไปประมาณร้อยกิโลเมตร ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ไปประมาณ 3 ลิตร ถังที่สองหมดปลอกเช่นกัน (จริงๆก็หมดปลอกตลอดทริปแหละ) แต่หาลมดูดสารพัด วิ่งไปประมาณ 120 กิโลเมตร ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ไปประมาณ 2.6 ลิตร

อัตราสิ้นเปลืองถือว่าไม่เลวเลยสำหรับเครื่องสี่จังหวะแบบพื้นๆพิกัด 100cc ที่ไม่ได้มีอะไรไฮเทคสักอย่าง และยังใช้คาร์บูเรเตอร์ในการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และเชื่อว่าเซ็ทดีๆไล่ข้าง ไล่น้ำมันดีๆ ทำได้ดีกว่านี้แน่นอน

ส่วนวันที่สองเป็นสเตจทางโค้งและฟีลลิ่งต่างๆ รวมไปถึงการทำงานของเครื่องยนต์ในพื้นที่ๆมีออกซิเจนเบาบาง ด้วยเส้นทางตั้งแต่จังหวัดตาก ผ่านเถินไปลี้ จอมทอง ยอดดอยอินทนนท์ และลงไปพักที่แม่แจ่ม

และลาสสเตจ ในวันที่สาม ที่งอกมาในคืนวันแรก เพราะมาตัดสินใจเอาที่จังหวัดตาก ว่าปลายทางที่เป็นไฮไลท์จะเปลี่ยนจากยอดดอยอินทนนท์ ไปเป็นทุ่งดอกบัวตองแทน

ว่าด้วยสเปค…ใช่ครับ ขี้เกียจพิมพ์ ถถถ  …. มาเจาะกันทีละเรื่องเลยดีกว่า จะเรียกว่ารีวิวได้ไหม เอาเป็นคุยกันในเรื่องที่อยากเล่าให้อ่านก็แล้วกัน ซึ่งอาจจะไม่เหมือนในคลิปรีวิวที่ลงในยูทูปก็ได้นะ เอาตรงๆเลยนะว่า เขียนตามอารมณ์ล้วนๆ 

รูปร่างของรถนั้น ก็อย่างที่เห็นในภาพ บนคอนเซปท์ออกแบบที่ตั้งใจจะให้เหมือนปืนให้สมกับคำว่า GUNNER แต่….บางคนก็มองเป็นไฟฉายติดล้อซะงั้น ก็ไม่เถียงเลย ดูๆไปก็เหมือนอยู่นะ แต่เอาเป็นว่า ความเห็นส่วนตัวคือชอบมากกกกกกกกกกกกกกก ชอบจนอยากให้มีรุ่นต่อไปที่เครื่องใหญ่ขึ้นอีกหน่อย หรือไม่ก็ 250 ไปเลยยิ่งดี แล้วขยายเฟรมให้ใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น ก็น่าจะเป็นการต่อยอดได้ดี แต่ทั้งนี้ ในตัว GUNNER 100 คันนี้ แม้จะมีการปรับปรุงแล้วจากตอนที่เปิดตัว จนทำให้การส่งมอบล่าช้าไปพอสมควร แต่ก็ทำให้เห็นว่าผู้ผลิตและออกแบบมีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นจากข้อติชมของทั้งสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจ ทั้งเรื่องของการแก้จุดยึดเครื่อง การแก้ตำแหน่งพักเท้า จุดนี้คือเท่าที่เห็นชัดเจนเลยว่ามีการเปลี่ยนแปลง และหลังจากทดสอบครั้งนี้แล้ว ก็ส่งการบ้านให้ผู้ผลิตนำไปพัฒนาเพิ่มเติมอีก ซึ่งผู้ทดสอบเชื่อว่า มันคือจุดเริ่มต้นที่ดี และตำนานของหลายๆคันที่ขึ้นแท่นคลาสสิกได้ ก็มีหลายคันที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่โมเดลแรกหรอกนะ

ก่อนจะไปถึงเรื่องใหญ่อย่างเครื่องยนต์ ต้องขอชมเจ้าถังน้ำมันเชื้อเพลิง ปริมาตร  4 ลิตร ที่ “กล้า” บิวท์อินในเฟรม เพราะแม้แต่ยี่ห้อหลักๆยังไม่ทำอะไรแบบนี้ในปัจจุบัน (อาจเพราะหลายสาเหตุที่ผมเองก็ไม่อาจหยั่งรู้) แต่เอาเป็นว่าเท่าที่ลองกับถังตัวนี้ ทำได้ดี เติมเต็มถังไม่ล้น และไม่เจอปัญหาเรื่องลูกลอยค้างและอื่นๆแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะมันเป็นท่อง่ายๆนี่แหละนะ แต่ไว้มีโอกาส อยากผ่าเฟรมดูว่ารูปร่างข้างในมันเป็นแบบที่คิดไว้หรือเปล่า แต่โดยรวมของการใช้งานบวกกับไอเดีย เอาไปเลย 9.5 /10 คะแนนในเวลานี้

0.5 คะแนนที่หักไป คือฝาถังอยากให้เป็นแบบพับได้ ไม่ต้องคอยถือเอาไว้ตอนเปิด เพราะก็แอบทำหล่นมือไปทีนึง ^^

และเมื่อมองจากมุมนี้ จะเห็นเบาะของผู้ขับขี่ ตอนแรกก็มองว่าเป็นทรงแบบขนมปังปอนด์ แต่นึกไปนึกมา เอ๊ะ หรือเขาออกแบบให้เหมือนศูนย์หลังของปืนหรือเปล่านะ เดาไปเดามา พอกลับจากทริปมาลองถามเจ้าของแบรนด์ เขาบอกว่า เปล่าเลยครับ แค่ออกแบบให้มันดูเข้ากับเฟรมรถเฉยๆ

ที่เล่าให้ทราบนี่คือบางทีจินตนาการของผู้พบเห็นก็อาจจะฟุ้งไปเองได้เหมือนกัน -_-”  และที่เซอร์ไพร์ซกว่า คือ พอนัดรับรถเสร็จ ผมก็ไปที่ดีแคทลอน ไปซื้อกางเกงปั่นจักรยานมาไว้เลย กะว่าน่าจะได้ใช้ตั้งแต่วันแรก แต่พอขี่จริงๆมันไม่แย่เท่าที่คิดไว้ (ถ้าเป็นวันเดย์ทริป) แต่พอวันที่สอง อาการระบมที่สะสมจากวันแรก ก็เริ่มทำให้ต้องใช้ท่าไม้ตายในการสลับอวัยวะในบางช่วง… และวันที่สามนั่นแหละถึงได้งัดกางเกงขี่จักรยานมาลอง ก็ดีขึ้น แต่ไม่ได้ว่าไม่ปวดเลย เอาเป็นว่าถ้าจะไปไกลๆ ใส่กางเกงปั่นจักรยานไว้ตั้งแต่วันแรก หรือไม่ก็ไปทำเบาะใหม่ให้เข้ากับสรีระของแต่ละคนไปเลย (ถ้าไม่คิดว่ามันจะเสียดีไซน์อะไร)

เบาะที่ปวดรองจากนี้ ถ้านับรถที่ผมมีไว้ครอบครองก็ CT125 มาเป็นที่สอง คะแนนตรงนี้ให้ยากนะ เพราะมันไม่ได้คาดหวังอะไรมากจากดีไซน์ คือเห็นก็เดาได้ว่ามันไม่สบายแน่ๆ แต่ถ้าต้องให้จริงๆจากสิ่งที่คาดหวังเอาไว้ ผมให้ 6/10 คะแนน

มาถึงหลักใหญ่ใจความของหนังเรื่องนี้….เอ้ย รีวิวคันนี้ ก็หนีไม่พ้นกับเรื่องของเครื่องยนต์ลูกนี้ ซึ่งเจ้าของแบรนด์เปิดเผยข้อมูลตั้งแต่เปิดตัวแล้วว่า มันคือการเอาเครื่องยนต์ของชองเซินริวก้า ที่ทำในพื้นฐานของเครื่องยนต์บล็อค C มาประกบกับคาร์บูเรเตอร์ ดังนั้น ในการนำรถไปตรวจให้ผ่านมาตรฐานของค่าไอเสียยูโร 5 กับองค์ประกอบเครื่องยนต์แบบนี้นั้น…

เอาตรงๆเลยว่าไม่ได้คาดหวังอะไรไว้เยอะว่ามันจะต้องวิ่งได้เป็นร้อย เพราะถ้าจะให้ตรวจผ่าน ค่าไอเสียมันจะต้องคุมให้….อย่างที่รู้กัน ดังนั้นผลลัพธ์มันก็เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น ในความเร็วเดินทางแบบนั่งชนลมปกติ สามารถทำได้แน่ๆที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และนั่งชนลมแบบดูดลมท้ายรถคันอื่นก็สามารถไหลไปได้ถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหน่อยๆ

และจากปัจจัยดังกล่าวก็มีเรื่องของความคาดหวังในส่วนของแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ สารภาพไว้เลยว่าก่อนเดินทางคิดว่าจะสั่นมากกว่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ในความเร็วปกติคือแถวๆ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น เครื่องยนต์สั่นสะท้านน้อยกว่าที่คิดไว้มากประมาณหนึ่งเลยทีเดียว จุดนี้เคยจินตนาการเอาไว้สัก 5/10 แต่พอขี่จริงจังแล้ว ผมให้ถึง 8/10 เลยทีเดียว

2 คะแนนที่หายไป มาจากย่านความเร็วที่ไกลไป90 นั่นแหละ เมื่อรอบเครื่องเลยลิมิตปกติไป อาการสั่นสะท้านจะเริ่มออกมาก่อนที่พักเท้า และมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เอาจริงๆคือก็ยังสั่นแบบขี่ได้นะ ไม่ได้สั่นที่แฮนด์จนปวดมือแต่อย่างใด

ทั้งหมดนี้คือตัวคนขี่หนัก 110 กิโลเมตรนะจ๊ะ ดังนั้น ถ้าคนน้ำหนักปกติก็มีแน่ๆว่าน่าจะวิ่งได้ความเร็วที่มากกว่านี้ตามสัดส่วนของน้ำหนักบรรทุกที่ต่างกันอย่างแน่นอน

ที่กล่าวไป คือในส่วนของทางราบ….

และเมื่อเริ่มขึ้นทางลาดชันคดเคี้ยวบนภูเขานั้น ช่วงเถิน – ลี้ บอกเลยว่าไม่เป็นปัญหา มันทำได้ตามปกติตามพิกัดของเครื่องพวกนี้ และเมื่อขึ้นทางชันมากๆเช่น ช่วงก่อนถึงพระธาตุบนดอยอินทนนท์ หรือ ช่วงก่อนถึงยอดดอยอินทนนท์ และ ช่วงที่วิ่งจากแม่แจ่มกลับขึ้นมาที่ด่านที่สองบนดอยอินทนนท์ ก็ไม่ได้แย่กว่าเครื่องตัวอื่นๆในพิกัดและคุณภาพเทียบเคียงกันแต่อย่างใด มันทำได้ตามที่มันสมควรจะทำได้ และถ้าอยากทำได้มากกว่านี้กับเครื่องแบบนี้ เอาตรงๆมันเล่นง่ายและไม่แพงเท่าเครื่องหัวฉีดแน่นอน หรือบางคนอยากให้มันดีกว่าแต่ยังอยู่ในพิกัดเดียวกัน พูดตรงๆว่าเขาก็ไปยกเครื่องกับเล่มของตัวอื่นมาเทียบกัน…เยอะแยะไปโยม

สรุปคะแนนรวมจากถ้าเทียบกับเครื่องในไทป์เดียวกัน เอาไป 8/10 คะแนน

จุดต่อมา คือเป็นจุดที่คนจะติ ก็ติ คนจะชมเพราะคิดไปอีกแบบก็จะชม และผมคือคนในส่วนหลัง นั่นคือการเลือกใช้การจ่ายน้ำมันด้วยคาร์บูเรเตอร์ (ลูกกระจึ๋งนึง) พูดกันถึงถ้าจะติก่อน ก็คงต้องไปในแนวว่า…เดี๋ยวนี้เขาใช้หัวฉีดกันหมดแล้ว..ก็จริงนะ ไม่เถียงเลย

แต่ถ้าจะให้ชมในเรื่องเดียวกัน ก็ต้องบอกว่า มันต่อยอดได้ไม่ยาก ทำได้ไม่ยากเท่าหัวฉีด มันดูแลรักษาและปรับแต่งได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะถ้ามีพื้นฐานช่างอยู่บ้าง มันง่ายกว่าหัวฉีดแน่ๆ อยากแรงกว่านี้ (ส่วนมากก็อยากแรงขึ้นอีกหน่อยแหละ) ก็เล่นกันที่ตรงนี้ก่อนนี่แหละ

ส่วนที่เจอและเกินคาดอีกจุดก็คือ ตั้งแต่ความสูงสักประมาณสองพันเมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป (เลยด่านที่สองไปหน่อย) จากที่ห่วงว่าจะมีอาการวอด สะอึก ….ไม่มีเลยสักนิด ปกติไปยาวๆยันยอดดอยอินทนนท์ เอาเป็นว่าถ้าขี่บนถนนในประเทศไทย ไปสูงแค่ไหนก็ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้เลย ถ้าจะให้ห่วงอีกทีก็นู่นแหละ แถวๆแชงกรีล่าหรือไม่ก็เลห์นั่นแหละมั้ง

แต่ถ้าจะให้ติเลย และอยากจะติให้พัฒนา ก็คือ ส่วนของกรองอากาศที่จะส่งไปให้คาร์บูฯนี่แหละ กรองหน้าตาแบบนี้ ถามไปตั้งแต่แรกแล้วว่าฝนตกจะรอดหรือไม่ ซึ่งจากการทดสอบในรอบนี้ก็เจอฝนหน่อยๆ ก็เห็นเลยว่าเจอฝนต่อเนื่องสักพักนี่ไม่น่าจะไหว จุดนี้ก็คงให้เป็นจุดสังเกตว่าถ้าจะซื้อรุ่นนี้มาใช้กับกรองเดิมๆติดรถ เจอฝนหนักๆก็ต้องรีบหาที่จอด หรือไม่ก็…ถ้าเป็นผมนะคงทำแอร์บ็อกซ์ใหม่เอง ฟังดูเหมือนยาก แต่ถ้าให้พูดคือพื้นๆเลยคือหาเทียบเอาเอง ไม่งั้นอยากให้สวยก็นั่งวัดแผ่นอะครีลิก อะไรทำนองนั้น จุดนี้ก็ฝากไปถึงผู้ผลิตแหละว่าถ้าอยากจะแก้ก็แก้ได้ แต่ถ้าจะมองว่าส่วนใหญ่คนขี่รถทรงนี้ก็คงไม่อยากจะลุยฝนหนักๆ…อันนี้ก็จริงเช่นกัน

และที่อยู่ติดกันอย่างกล่องใส่แบตเตอรี่ก็เช่นกัน ฝนตกหนักๆ ไม่น่าเสี่ยงแหะ

ลืมบอกไป…ในเมื่อเป็นคาร์บูฯ ก็ให้ก็อกหนึ่งก็อกสองมาด้วย อันนี้สายเดินทางจริงๆก็ปลื้มนะ มันเป็นเมคเคอนิคคัลที่ชัวร์กว่ามาตรวัดเยอะเลย คือถ้ามาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงมันเพี้ยนจากอะไรก็ตาม เรายังเชื่อก็อกตัวนี้ได้อยู่….จริงไหม

มาตรวัด LCD Digital ทรงกลมมินิมอล แต่ข้อมูลที่ให้รวมไปถึงความสว่าง ให้ผ่านเลยนะกับราคานี้ เพราะเอาจริงๆรถเล็กแบบนี้จะดูอะไรเยอะแยะหนอ บอกความเร็ว(ปรับหน่วยเป็นไมล์ได้) บอกรอบเครื่อง บอกระดับน้ำมันเชื้อเพลิง บอกเกียร์(ว่าง) บอกระยะทางรวม บอกระยะทางแบบTrip กลางวันแดดเปรี้ยงๆก็ยังดูรู้เรื่อง เอาโดยรวมก็ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้บอกเยอะสุดๆ

มาตรวัด เอาไป 9/10 คะแนน

เอ้า บอกก่อนเดี๋ยวจะลืม ไปดูในกลุ่มรถรุ่นนี้ในเฟซบุ๊ค บอกว่าวิ่งได้แค่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นี่ก็เอาให้ดูเลยว่านี่นั่งขี่ปกติไม่ดูดลมใครน่ะทำได้เท่าไร ลองไปเดาต่อเองว่าถ้าดูดลมหรือหมอบหลบลม หรือน้ำหนักตัวปกติ มันควรจะได้เท่าไร อยากจะบอกในฐานะที่อยู่ตรงนี้ว่า ประเภทที่ชอบคุยกันว่า อยากรู้ข้อมูลรถรุ่นไหนก่อนตัดสินใจซื้อ ให้ไปดูในกลุ่มรถรุ่นนั้น จริงเหรอ … มีอะไรมาเป็นมาตรฐานไหมว่าข้อมูลที่ใครก็ไม่รู้พิมพ์มาน่ะเชื่อได้???

เอาเป็นว่า ใครอยากเชื่อ…ไม่ห้าม แบกรับความเสี่ยงกันเองจ้า

ดีไซน์ของไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟท้าย สวยงาม สมส่วน จุดนี้ให้ 9.5/10 คะแนน ( 0.5 นี่คือหักไฟเลี้ยวที่พื้นๆไปหน่อย แต่จริงๆมันก็เข้ากันดีในเรื่องของดีไซน์) ส่วนความสว่างและรัศมีของลำแสง ในความเร็วที่ทำได้ ให้ผ่านแบบ 10/10 คะแนนเลยจ้า อันนี้เกินคาด ชมๆ

โช้คอัพหน้าแบบเทเลสโคปิก จับแผงเดียวแบบรถแม่บ้านทั่วไป ….หน้าตา ก็โช็ครถแม่บ้านยอดนิยมอะไรทำนองนั้น แต่เซ็ทมาได้ดี ดีแบบดี ติดไปทางเฟิร์ม แต่ก็ไม่ได้เฟิร์มแบบแข็งทื่อ อันนี้คือชมเลยว่าเซ็ทได้ดี (แต่คนตัวเบาๆอาจจะทื่อไปบ้าง)

ดิสก์เบรกหน้าคือดีย์มาก เบรคอยู่และให้ฟีลลิ่งการไล่น้ำหนักเบรคที่ดี คือใน Perfoemance รวมๆที่รถทำได้ เบรคหน้าเดิมเอาอยู่แบบแฮปปี้เลยนะ แต่ใครอยากหล่อก็จัดเต็มได้เลย เพราะถ้าผมซื้อคันนี้มาเล่น ก็เป็นอีกจุดที่อยากทำให้มันหล่อๆเช่นกัน ง่ายๆคืออยากจับโบ้มาใส่เล่นหล่อๆเลยนั่นแหละ แต่ถ้างบยังไม่ถึง เบรคเดิมติดรถคือไว้ใจได้

รวมไปถึงยางหน้าเส้นนี้จาก FUJIYAMA นี่ก็ขอชมเลยว่าฟาดหนักๆบนเขาเอาอยู่ ซัดยาวๆก็ไม่มีอาการ ทั้งหนึบและไว้ใจได้ เอาเรื่องๆ (อยากเบิกมาใส่มังกี้เลยแหะ)

โช็คหลัง เบิกMSXมาใส่ได้เลย แถมได้ตัว DTG ของ YSS มาด้วย หนึบ เฟิร์ม มั่นใจได้ เบรคหลังให้ดิสก์เบรค จัดเต็มด้วยคาลิปเปอร์คู่ ปั้มกระทุ้งก็เก็บงานได้ดี หวดยาวๆไม่มีปัญหาเลย เอาอยู่สบายๆ เห็นปั้มหลังใกล้เคียงปั้มหน้าก็อย่าไปห่วงเลย เพราะดิสก์หลังให้มาเล็กกว่าดิสก์หน้าแบบได้สัดส่วนที่ดี โมเมนต์ตัมของเบรคหน้าหลังรวมแล้วเอาอยู่ สมดุล แฮปปี้ ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้นะ แต่ถ้าอยากหล่อก็ตามกำลังทรัพย์เลยจ้า

ยางหลัง FUJIYAMA เช่นกัน หนึบ เฟิร์ม เอาอยู่ หวดหนักๆบนเขาต่อเนื่องกันยาวๆไม่มีปัญหาเลย ไว้ใจได้

เกือบลืมจุดนี้ไป  ประกับทั้งสองข้าง ให้มาใช้งานได้ดีอย่างที่ควรจะให้ใช้ ฟังค์ชั่นของประกับซ้าย ปกติดีทั้งสวิทช์ไฟต่ำ/สูง + สวิทช์ไฟเลี้ยวซ้ายขวา + สวิทช์แตร เหลือแค่ถ้าให้สวิทช์ดิฟท์ไฟสูงมานี่จะเริ่ดมาก ส่วนประกับขวา ให้มาทั้งสวิทช์เลือกแบบปิดไฟหน้าได้ สวิทช์สตาร์ทมือ แถมยังให้ไอเทมวัยรุ่นอย่างสวิทช์ไฟฉุกเฉิน (เอาไปเปิดตอนจอดรถเสียข้างทางนะ อย่าไปใช้อย่างอื่น) นี่ถ้าให้สวิทช์ออฟรันมาด้วยจะเพอร์เฟคเลยแหละ ถ้าทั้งหมด มาหักคะแนนหน้าตาประกับที่ดูเชยไป เชยไปนะ เอาไป 9/10 คะแนนจ้า

ปัญหาหลักๆที่เจอในทริปนี้ คือหวดๆไป ตัวยึดบังโคลนล้อหลังขาดจ้า คาดว่าเนื่องจากบังโคลนล้อหลังทำจากเหล็กที่ค่อนข้างแข็งแรง แต่เหล็กตัวที่ยึดคงแข็งแรงไม่พอ เจอการสั่นสะเทือนไปนานๆก็ขาดอย่างที่เห็น (แต่ยูสเซอร์ที่ใช้ปกติไม่มีใครเจอนะ) จุดนี้ ผู้ผลิตก็รับจะไปแก้ไขให้จ้า

บทสรุป Phoenix GUNNER 100


อย่างที่คนเล่นห้องมอเตอร์ไซค์มาหลายๆปีคงจะจำกันได้ ว่ากิจกรรมในการทำรีวิวมอเตอร์ไซค์ของผม จุดเริ่มต้นคือผมเติบโตมาจากโอกาสได้ทำรีวิวมอเตอร์ไซค์แบรนด์ไทย และทุกวันนี้ก็ยังใช้งานรถแบรนด์ไทยหลายๆคันในบ้านเดินทางไปไหนมาไหน บ้างก็มาเขียนลงในนี้ (แต่ส่วนใหญ่ทำเป็นคลิปมากกว่า)….ดังนั้น ถ้าพูดถึงมอเตอร์ไซค์แบรนด์ไทย เป็นอะไรที่ผมค่อนข้างจะผูกพันและเอาใจช่วยอยู่พอสมควร

ครั้งนี้ก็เช่นกัน เป็นผมที่เสนอตัวเองอยากพิสูจน์เจ้า Phoenix GUNNER 100 น้อยกลอยใจคันนี้ ว่ามันจะผ่านพ้นบททดสอบในสไตล์ผมไปได้ดีหรือร้ายแค่ไหน จากเนื้อความด้านบนๆตั้งแต่ต้นจนจบ เชื่อว่าทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจได้บทสรุปในใจกันบ้างแล้ว

หลายคนอาจจะมองว่าราคานี้แพง แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ อาจมองว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว เพราะการกำหนดราคาขายมันประกอบไปด้วยหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือต้นทุน ที่ Phoenix GUNNER 100 ในอัตรากำลังการผลิตเดือนละหลักสิบหลักร้อย ต้นทุนของโมลต่างๆในส่วนที่ไม่ได้สั่งอะไหล่สำเร็จรูปมาประกอบนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญคือต้นทุนในการออกแบบ คิดค้น และต้นทุนในการทดสอบสิ่งที่ออกแบบจนมั่นใจพอที่จะเอาส่งตรวจให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอนุมัติให้รถคันนี้ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อได้สิทธิในการจัดจำหน่ายได้นั้น…ใครพอจะรู้ก็ต้องบอกว่ามันไม่ใช่หลักแสนหรือหลักล้าน

ในต้นทุนต่างๆเหล่านี้เอง เมื่อรวมกับการที่เราควรจะสนับสนุนไอเดียและการกล้าที่จะเริ่มต้นของสตาร์ทอัพแบรนด์ไทยนั้น เราคงจะต้องลองเปิดใจและเข้าใจคอนเซปท์ต่างๆในการออกแบบ หนึ่งในนั้นคือการเลือกใช้เครื่องยนต์ที่ค่อนข้างจะพื้นๆ แถมยังเลือกใช้ระบบการจ่ายเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์นั้น สิ่งเหล่านี้มาจากคอนเซปท์อย่างไร ถ้าได้รับทราบข้อมูลและได้ลองเปิดใจแล้วก็จะพบว่า บนพื้นฐานที่เข้าใจไม่ยากเท่านั้น เราอาจเชื่อมต่อสิ่งเหล่านี้เข้ากับคำว่า Simple is The Best ที่อยู่ในความเรียบง่ายของเจ้า Phoenix GUNNER 100 คันนี้ได้ถ่องแท้ขึ้นก็เป็นได้

แม้ว่าอะไหล่และส่วนประกอบบางอย่าง จะยังดูไม่น่าพึงพอใจสำหรับหลายๆคน แต่หากมองในมุมของคนที่ชอบตบแต่งรถแล้ว การได้โครงสร้างดีไซน์แบบนี้ในราคานี้มราสามารถจดทะเบียนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายไปเล่นต่อเองนั้น เป็นราคาที่จ่ายได้

และหากไม่ได้มองเรื่องการตบแต่งต่อแล้ว จากการทดสอบ หากนำไปใช้งานตามปกติในพื้นฐานทั่วๆไปแล้ว หากได้ทำความเข้าใจประมาณหนึ่งกับระบบการทำงานที่เรียบง่ายเหล่านี้ ปัญหาที่อาจจะต้องเจอ หรืออาจจะไม่เจอเลยนั้น อาจเรียบง่ายกว่าอะไรที่มีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่านี้ก็เป็นได้ เรียกได้ว่าสำหรับมือใหม่นั้น หากศึกษาสักหน่อย และเปิดใจที่พร้อมจะเรียนรู้ไปกับสิ่งเหล่านี้ นี่อาจเป็นพาหนะที่เชื่อใจได้มากกว่ารถที่มีฟีเจอร์มากมาย…ก็เป็นได้

และจากบททดสอบที่ค่อนข้างจะหนักหน่วง ปัญหาที่เจอในระหว่างทางก็พบเพียงเท่าที่เห็น แต่ในรีวิวนี้อาจจะไม่ใช่บทสรุปที่สมบูรณ์เพียงพอ หากมีโอกาส ผู้ทดสอบก็อยากจะนำเจ้า Phoenix GUNNER 100 ไปทดสอบการเดินทางระยะไกลๆอีกสักหลายที่ เพื่อจะได้มีโอกาสมากขึ้นในการพบปัญหาที่อาจต้องเจอตามระยะทางและอายุชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ปกติชนทั่วไปจะนำไปใช้สอย….เอ๊ะ หรือซื้อไว้เลยสักคันก็น่าจะดี^^

ในบทสรุปที่เหมือนจะยังไม่ได้สรุปนี้ เพราะผู้ทดสอบเองก็ยังเชื่อว่ายังมีอะไรบางอย่างที่อยากจะลองปรับแต่งคันนี้ให้ดีขึ้น และยังอยากจะลองเองให้มากกว่านี้ เอาเป็นว่าหากบทสรุปนี้ไม่มีประโยชน์….ประหนึ่งไม่ได้สรุป

ข้อความตั้งแต่หัวกระทู้จนถึงความคิดเห็นที่ 20 นั้น ก็น่าจะพอเป็นข้อมูลให้ผู้คนที่สนใจ Phoenix GUNNER 100 ได้นำไปใช้พิจารณาต่อได้ ไม่มากก็น้อย

ขอบคุณครับ By : แอดหมี OMEGA OHM